ม.แม่โจ้เปิดโรงเรือนอัจฉริยะปลูกกัญชา 24,000 ต้น ในระบบอุตสาหกรรมอินทรีย์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค โดยบริษัทเอกชนสนับสนุนงบประมาณ 70 ล้านบาท ผลผลิตส่งกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกนำไปสกัดเป็นยารักษาโรค
     26 พ.ย.64 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นประธานเปิดโรงเรือนปลูกกัญชาในระบบเกษตรอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยนำปลูกกัญชาต้นแรกในโรงเรือน เป็นสายพันธุ์แม่โจ้ 03 ซึ่งทางศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ทำการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์จากพันธุ์อิสระ 01 ให้มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย และสามารถเจริญเติบโตได้ดี รวมทั้งให้ผลผลิตกัญชาที่มีคุณภาพ โดยมีนายชัชวาลย์ ฉายะบุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ซึ่งโรงเรือนแห่งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับ บริษัท เค ที พี แอสโซซิเอท จำกัด ถือเป็นโรงเรือนปลูกกัญชาในระบบเกษตรอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ด้วยจำนวนการปลูกทั้งสิ้น 24,000 ต้น

     รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า หลังจากที่มหาวิทยาลัย แม่โจ้ ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขในโครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาทางการแพทย์ 12,000 ต้น ในระบบเกษตรอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม โดยเริ่มต้นปลูกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 จนสิ้นสุดโครงการและส่งมอบช่อดอกกัญชาให้องค์การเภสัชกรรม และกรมการแพทย์ไปสกัดเป็นน้ำมันกัญชา เพื่อนำไปรักษาผู้ป่วยเฉพาะโรค เฉพาะทาง เฉพาะคน ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อดำเนินโครงการสำเร็จแล้ว ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงได้ต่อยอด ความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อทำการปลูกกัญชาในระบบอุตสาหกรรมอินทรีย์ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งโรงเรือนและอุปกรณ์ต่างๆ โดยภาคเอกชนจะส่งมอบให้กับทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยต่อไป

     

      ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ในความร่วมมือกับบริษัท เค ที พี แอสโซซิเอท จำกัด ครั้งนี้ ทางบริษัทได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างโรงเรือนปลูกอัจฉริยะ (Smart Farming) พร้อมอุปกรณ์ต่างๆ ในวงเงินงบประมาณ 70 ล้านบาท บนเนื้อที่ 6.25 ไร่ ซึ่งในโครงการจะมีการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาทางการแพทย์ในโรงเรือนปลูกรวมทั้งสิ้น 24,000 ต้น

     ใช้เทคนิคการปลูกระยะชิด ภายใต้การดูแลทั้งการเจริญเติบโตของพืช การให้อาหาร การป้องกันศัตรูพืช เป็นระบบอินทรีย์ทั้งสิ้น รวมทั้งการควบคุม การให้น้ำ ความชื้น อุณหภูมิ และแสงแบบ Smart Farming โดยใช้เมล็ดพันธุ์กัญชา สายพันธุ์แม่โจ้ 03 ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ทำการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์จากพันธุ์อิสระ 01 ซึ่งจะมีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย และสามารถเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งโครงการความร่วมมือกับ บริษัท เค ที พี แอสโซซิเอท จำกัด ในครั้งนี้ นับเป็นโครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาในระบบอุตสาหกรรมอินทรีย์ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค เพื่อให้ได้ผลผลิตกัญชาที่มีคุณภาพ ส่งมอบให้หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปสกัดทำยารักษาโรคต่อไป.

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here